วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2558

คาซาน (Казань) เมืองแขกในรัสเซีย (ตอนแรก)

หลังจากไม่ได้เขียนบลอกมานาน จนลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าเคยมีอยู่
วันนี้หลังจากรู้สึกว่าง บวกกับคิดถึงรัสเซียแบบแปลกๆ
ก็เลยคิดว่าควรจะแบ่งปันความรู้ที่พอมีอยู่น้อยนิด ให้คนที่ผ่านไปผ่านมาได้อ่านกันบ้าง 
มาเริ่มกันเลยก็แล้วกันนะคะ 
-----------------------------------------------------

เมืองคาซาน (Казань) เป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐตาตาร์สถานแห่งประเทศรัสเซียค่ะ มีประชากรประมาณ 1 ล้านกว่าคน และนับเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอับดับ 8 ของประเทศรัสเซียค่ะ คำว่า "คาซาน" นั้นยังไม่มีใครรู้ความหมายที่แน่ชัด แต่ตำนานที่โด่งดังมากๆคือมาจากคำว่า "qazan" ในภาษาบูลการ์ หรือภาษาตาตาร์ แปลว่า หม้อ นั่นเอง 


ภาพพาโนรามาของเมืองคาซาน บริเวณเครมลินค่ะ
cr: http://fratria.ru/ontour/russia/kazan

ว่ากันว่าเมืองคาซานนี้สร้างขึ้นมาได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ปีแล้วค่ะ 
โดยอ้างอิงข้อมูลจากส่วนของเครมลินที่คาซานนั่นเอง
 คำว่า "เครมลิน" นั้นคนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักในนามของพระราชวัง 
แต่จริงๆแล้วแปลว่า ป้อมปราการค่ะ 
ซึ่งภายในป้อมปราการนั้นก็จะมีทั้งพระราชวัง ที่ทำการของรัฐบาล วิหารต่างๆ 
แต่ก็มีหลายความเห็นที่ว่าคาซานตั้งมาเมื่อปี 1300 กว่าๆเท่านั้น จะยังไงก็ตามแต่ 
ในช่วงกลางศตวรรษที่ 15 (ช่วงปี 1438 - 1552) นั้นคาซานถูกปกครองแบบจักรวรรดิข่าน
 จนกระทั่งปี 1552 ภายใต้การนำของพระเจ้าอีวานที่ 4 คาซานก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย 
 มีการเผาเมืองเพื่อทำลายวัฒนธรรมแบบข่านทิ้งไป  
และในปี 1556-1562  ก็ได้เริ่มการก่อสร้างพระราชวังเครมลินสีขาวขึ้นมาใหม่ 
โดยใช้ช่างชาวปสคอฟชื่อนายโปสทนิค ยาคอฟเลฟ และ นายอีวาน ชีเรียเยฟ ซึ่งเป็นผู้คุมการก่อสร้างโบสถ์หยดเลือดที่จัตุรัสแดงเข้ามาดูแลการรีโนเวทเครมลินและกำแพงทีนี่แทนค่ะ 

ภาพคาซานสมัยช่วงต้นศตวรรษที่ 16 ค่ะ
cr: http://komanda-k.ru/

เดิมทีตัวเครมลินสร้างด้วยไม้ แต่แบบใหม่นี้สร้างออกมาให้มี 13 หอคอย 
ว่ากันว่าสร้างใหม่อย่างไรก็ไม่สวยเท่าสมัยข่าน 
แถมยังมีรับสั่งให้มีการสร้างโบสถ์คริสต์ออร์ธอด็อกซ์ 
รวมทั้งวิหารตามมาอีกมากมายด้วย 
จนกระทั่งล่วงเลยผ่านยุคสมัยสหภาพโซเวียตไปแล้ว 
ณ ตอนนี้ หอคอยทั้งหมดเหลือเพียงแค่ 8 หอ มีเพียงแค่ 2 หอที่นับเป็นทางเข้าหลักของเครมลิน 
นั่นก็คือ หอเตือนภัย The Alarm Tower (Тайницкая башня) 
และหอนาฬิกาหรือที่เรียกว่า The Saviour Tower (Спасская башня) 
ซึ่งหออันหลังนี่ยังเป็นหอคอยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง
ซึ่งเป็นอนุสรณ์สำคัญของสถาปัตยกรรมยุคกลางในรัสเซียด้วยค่ะ

หอนาฬิกาหรือที่เรียกว่า The Saviour Tower (Спасская башня)
หอเตือนภัย The Alarm Tower (Тайницкая башня)
cr: http://rus-luck.livejournal.com/6514.html

หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต คาซานก็กลับกลายมาเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ 
เป็นเมืองแขกเพราะวัฒนธรรมตาตาร์ได้กลับคืนมา 
จึงทำให้คาซานเป็นเมืองที่น่าสนใจเมืองหนึ่งของรัสเซียเลยค่ะ


ทีนี้กลับมาเรื่องของเราค่ะ เรื่องของเรื่องก็คือทริปนี้ไม่ได้เตรียมตัว 
จริงๆเปิดเทอมแล้วด้วยตอนนั้น หลังจากกลับจากทรานส์ไซบีเรียทริปได้ไม่ถึง 2 อาทิตย์
ก็น่าจะ 18-20 ก.พ. 2013 ค่ะ ไปกัน 3 วัน (ทำไมจำแม่น รูปในไอโฟนมันขึ้นวันที่ค่ะ)
พอดีเมทจะพาหนุ่มไป  เรากับเจ๊ก็เลยมาด้วย 
 เพราะคาซานกับเราเป็นเมืองที่คลาดกันตั้งแต่สมัย AFS 
เอาง่ายๆคือไม่ได้มาซะที  รอบนี้เลยมาด้วย 
ซื้อตั๋วรถไฟมาจากเมืองเราค่ะ เยคาเตรินเบิร์ก > คาซาน 
ใช้เวลาเดินทางน่าจะราวๆ 12 ชั่วโมง คือนอน 1 คืนพอดี 
ราคาไม่ถึง 1,000 รูเบิ้ล (ถ้าเป็นตอนนี้ก็ 6-7 ร้อยบาท)
เราไปถึงประมาณเที่ยงๆได้ค่ะ มาถึงสถานีรถไฟก็หน้าตาแบบนี้ล่ะค่ะ

Kazan ตั้งอยู่ระหว่างมอสโกมาเยคาเตรินเบิร์กค่ะ
ถ้าใครนั่งรถไฟจากมอสโกมาก็จะใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง หรือ 1 คืนพอดีค่ะ
สถานีรถไฟ Kazan 1
จำแหล่งที่มาไม่ได้
เอาจริงๆก็คือตอนนั้นกำลังก่อสร้างสถานีรถไฟ Kazan 2 ติดกันเลยค่ะ ใหม่เอี่ยมมากๆ เพราะว่าไว้ต้อนรับกีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน ครั้งที่ 28 เมื่อปี 2013 ไปไหนก็จะมีป้ายภาษารัสเซีย อังกฤษ และตาตาร์อยู่เสมอ ไฮโซวววว อะตอนนี้เสร็จแล้ว ขอแนบรูปมาให้ชม

สถานีนี้ติดกับสถานีเดิมเลยค่ะ มีทางเดินเชื่อมกันเก๋ๆ


(สำหรับใครที่สงสัยทำไมรอบนี้ บลอกแกมันมีแต่รูปติดเครดิตวะ แล้วรูปแกล่ะ 
ตอบเลยค่ะว่าไม่มี 5555 ล้อเล่นๆ ก็มีบ้าง แต่น้อยมาก 
พอดีว่ามีเพื่อนเรียนอยู่ที่นั่นคนนึงซึ่งเป็นคนติด social มากกกกกก
 เราเลยไม่เน้นถ่ายรูปเลย ให้มันถ่าย ผลปรากฎจึงมีรูปวิวไม่เยอะ 
แถมไปช่วงหิมะละลายเมืองเละมากค่ะ 555)

เราพักกันที่โฮสเทลแห่งหนึ่งไม่ไกลจากตัวถนนคนเดินของเมืองค่ะ
เอาจริงลืมชื่อไปแล้วค่ะ แต่เป็นโฮสเทลเล็กๆเป็นกันเอง
ห้องนึงนอนได้ 4 คนก็พอพวกเราพอดีค่ะ
จัดแจงเก็บของเสร็จ อาบน้ำเล็กน้อยพองามก็ออกมาเดินเล่นกันค่ะ
ที่แรกที่เราไปกันคือ...ถนนคนเดินค่ะ
หรือถนน Bauman ถนนนี้คนที่นี่เค้าเทียบเท่าถนนอารบัทของมอสโกเลย


รูปของเราถ่ายจากกล้อง iPhone 4 นะฮ้าาา บางรูปก็แต่งสีไว้แต่สมัยนู้น
บางรูปก็ไม่ได้แต่ง และนี่ก็ไม่ขยันจิแต่งด้วย 5555


Epiphany Cathedral หรือ  Богоявленский собор
ข้างๆที่เห็นหัวทองๆคือส่วนตัวโบสถ์ค่ะ สีฟ้า ยอดโดมหัวหอมสีทอง
แมคโดนัลด์ก็สีสันสดใสมาก
ธนาคาร

เราก็เดินชมเมืองกันไปเรื่อยๆค่ะ ร้านอาหารที่นี่มีอาหารหลากหลายค่ะ
อาหารตาตาร์เองก็เยอะมากกก ที่โด่งดังก็มีหลายจานนะคะ 
แต่ที่พลาดไม่ได้จริงๆก็คือขนมปังอบหรือพายไส้เนื้อ ที่เรียกว่า วัค-เบลิช (Вак-Белиш)
สำหรับใครไม่กินเนื้อ บางที่ก็มีไส้อื่นให้เลือกนะคะ เห็ดบ้าง มันฝรั่งบ้าง ไก่บ้าง
อีกอันนึงที่ไม่ควรพลาดก็คือซุปใส่เส้นหรืออารมณ์ก๋วยเตี๋ยวบ้านเราที่ชื่อว่า ต๊อกมาช (токмач) 
และปิดท้ายด้วยขนมหวานสุดอร่อยและหว๊านหวานที่ชื่อว่า ชัค-ชัค (Чак-чак) ค่ะ
เวลารับประทานต้องกินกับชาค่ะ ปกติคนที่นี่จะกินชาไม่ใส่น้ำตาล
พอกินกับขนมหว๊านหวานก็จะเข้ากันได้พอดีค่ะ
ต๊อกมาช
เบลิช
ชัค-ชัค

เรากินกันจนอิ่มแล้วก็เดินต่อค่ะ ไปยังโบสถ์ Cathedral of the Apostles Peter and Paul
หรือที่เรียกว่า  Петропавловский собор ซึ่งเป็นโบสถ์ออร์ธอด็อกซ์
ที่หน้าตาไม่เหมือนออร์ธอด๊อกซ์แม้แต่น้อยเลยค่ะ
โบสถ์เดิม ณ ที่นี้ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อปี 1565 ค่ะ แต่ต่อมาในสมัยพระเจ้าปีเตอร์ที่ 1
เกิดสงครามรัสเซีย-เปอร์เซียขึ้นมา ซึ่งพระเจ้าปีเตอร์ได้รับชัยชนะในครั้งนั้น
ก็เลยมีการสร้างโบสถ์นี้ขึ้นใหม่ในปี 1722 เพื่อให้เกียรติแก่พระเจ้าปีเตอร์
โดยสร้างในสไตล์บารอคแบบมอสโก (Moscow Baroque หรือ Naryshkin Baroque)
ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงศตวรรษที่ 17 ถึงต้น 18 นั่นเองค่ะ
ภาพจากวิกิพีเดีย
ถ่ายคู่กับหอระฆังค่ะ
คือฉากนี้มีแต่ตอนเผลอและไม่พร้อม
จึงต้องขอเอาแอปเปิ้ลปิดหน้าเจ๊
ที่กำลังด่าเพื่อนที่ถ่ายด้วยประการฉะนี้ 555


เสร็จจากโบสถ์นี้เราก็เดินเล่นกันต่อค่ะ ชิวๆไปเรื่อยตามประสาเด็กโดดเรียน
ช่วงนั้นอากาศประมาณ -10 ถึง -15 ค่ะ 
ถือว่าไม่หนาว ใส่โค้ทเดินได้สบายมากๆค่ะ

พอตกเย็นก็ไปทำธุระกันต่อเล็กน้อย ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ค่ะ 5555
สำหรับวันแรกก็ยังไม่มีอะไรมาก เน้นชิวๆสบายๆ
เพราะมาจากอากาศ -25 ยังไงพี่มาเจออากาศแบบนี้ พี่ก็สบายอะนะ 
ส่วนอีก 2 วันที่เหลือจะเป็นไง ไว้จะมาเล่าให้ฟังค่ะ

___________________



1 ความคิดเห็น: